Sunday, October 12, 2008

ข่าว นกแอ่น3

นสพ.ผู้จัดการ วอนเร่งส่งเสริมปลูกบ้านรังนกนางแอ่น
เมืองไทยเรานี้โชคดีกว่าเมืองอื่น ๆ เพราะเรื่องราวหลากหลายที่เหนือความคาดคิดของผู้คนมักจะเกิดขึ้นบนดินแดนแหลมทองนี้ และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและราษฎร
เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หากเกิดขึ้นในประเทศอื่นคงยากที่จะระงับยับยั้ง แต่สำหรับประเทศไทยในพลันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสให้ยุติความขัดแย้ง เหตุการณ์ก็สงบสิ้นเชิง ราวกับว่ามีน้ำมนต์ทิพย์จากสรวงสวรรค์ดับไฟที่กำลังโหมไหม้ลุกโชนให้มอดสนิทได้ในพริบตา เรื่องร้าย ๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะคลี่คลายได้โดยง่ายก็อาจคลี่คลายได้ในพริบตา และเรื่องดี ๆ ที่ไม่นึกคิดว่าจะมีอยู่หรือมีขึ้นก็มักจะมีขึ้นหรือบังเกิดขึ้นนอกเหนือความคาดคิดเช่นเดียวกัน
เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจจนนักวิชาการก็ไม่รู้จะคิดหาทางออกประการใด แต่ในที่สุดก็มีคำกล่าวสรุปถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าประเทศไทยนี้มีพระสยามเทวาธิราช ในยามประเทศชาติอับจนก็ทรงจำแลงร่างมาในสองรูปแบบ คือในรูปแบบกรรมกรผู้ไปขายแรงงานต่างประเทศพวกหนึ่ง และในรูปแบบของโสเภณีที่ร่อนเร่เดินทางไปหางานทำในต่างประเทศอีกจำพวกหนึ่ง ทั้งสองพวกนี้ได้นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤตของประเทศได้อย่างไม่คาดฝัน
ในช่วงปลายรัฐบาลที่แล้วทั่วทั้งประเทศพากันสิ้นหวัง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจลุกโหมโรมเร้าจนประเทศไทยดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ ในขณะที่รัฐบาลก็มีอำนาจมากมายมหาศาล จนใครต่อใครก็เชื่อว่ารัฐบาลนั้นจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่ในที่สุดพรรคไทยรักไทยก็อุบัติขึ้น กระแสโจมตีการขายชาติก้องกระหึ่มไปทั่วประเทศ และในที่สุดประเทศไทยก็ได้รัฐบาลใหม่ ที่มีความเข้มแข็งเกรียงไกร และมีขีดความสามารถนำพาประเทศชาติหลุดพ้นออกมาจากห้วงเหววิกฤตและการยึดครองของต่างชาติได้สำเร็จ
เพียงไม่ถึงสี่ปีประเทศไทยก็ก้าวไปยืนอยู่ในแถวหน้าสุดของประชาคมโลก รายได้ประชาชาติเพิ่มสูงที่สุดนับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยกลายเป็นประเทศน่าลงทุนลำดับที่สี่ของโลก รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน ทำให้รัฐบาลมีกำลังความสามารถที่จะใช้เงินจำนวนมากไปในการพัฒนาประเทศได้
ความจริงเหล่านี้ถึงใครจะเกลียดจะโกรธคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงนั้นได้ แต่ก็มีความจริงอยู่อีกอย่างหนึ่งว่าประชาชนคนยากคนจนทั่วประเทศได้รับรู้และสัมผัสถึงปรากฏการณ์ใหม่ที่พวกเขาได้รับในช่วงระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมานี้ และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประเทศไทยของเรายังมีเรื่องดีงามอีกหลายเรื่องที่ผู้คนคาดคิดไม่ถึง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของรังนกนางแอ่น
คนไทยทุกคนเคยได้ยินเรื่องราวของรังนกนางแอ่นในฐานะที่เป็นเครื่องบำรุงสุขภาพราคาแพงสุด ๆ และมีจำนวนจำกัดอย่างยิ่ง จนราวกับว่าเป็นสิ่งซึ่งคนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ชิมลิ้มรส รังนกนางแอ่นของไทยเป็นรังนกนางแอ่นคุณภาพดีที่สุดของโลก มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บริเวณเกาะสี่ เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นหมู่เกาะหินปูน ห่างจากอำเภอปากพยูนของจังหวัดพัทลุงในระยะเดินทางทางเรือ 20 นาที
รังนกที่นี่หากซื้อขายกันปกติจะตกราคากิโลกรัมละ 50,000-70,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังนก ซึ่งมีอยู่ถึงสามประเภท คือรังนกเลือดซึ่งถือว่าเป็นรังนกที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดและราคาแพงที่สุด รังนกใหม่ซึ่งมีสีขาวสะอาด มีขนนกปะปนอยู่แต่น้อย และรังนกเก่าซึ่งอาจมีคราบไคลของถ้ำหรือมีขนนกปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่รวมถึงรังนกฟอก รังนกปลอม ที่ทำกันสารพัดในปัจจุบันนี้ เพื่อตอบสนองให้กับความต้องการที่มีอยู่ล้นหลาม แต่ไม่สามารถรับมือกับราคาที่แพงลิบลิ่วได้
รังนกไทยเกือบทั้งหมดถูกส่งไปขายที่ฮ่องกง สิงคโปร์ จากนั้นก็ส่งไปยังประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ที่มีคนจีนอยู่อาศัย นานวันเข้าพวกฝรั่งมังค่าก็พากันนิยมตามไปด้วย แต่ทว่ารังนกนางแอ่นไทยนั้นมีปริมาณจำกัด ดังนั้นจึงทำให้รังนกจากอินโดนีเซียพลอยมีชื่อเสียงตามไปด้วย ทั้ง ๆ ที่คุณภาพด้อยกว่า แต่มีปริมาณมากกว่าเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศหมู่เกาะ มีเกาะร่วม 3,000 เกาะ และมีนกนางแอ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เหตุที่คุณภาพรังนกนางแอ่นอินโดนีเซียสู้คุณภาพรังนกนางแอ่นไทยไม่ได้นั้น ว่ากันว่าเกิดจากอาหารเพราะในอินโดนีเซียนกนางแอ่นอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำเค็มล้วน ต่างกับนกนางแอ่นไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อย รวมทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด อาหารจึงอุดมสมบูรณ์กว่า มูลค่ารังนกนางแอ่นไทยในแต่ละปีมีจำนวนถึงหมื่นล้านบาท แต่มูลค่าหลอก ลวงเพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีมูลค่าเพื่อผลต่อการประมูลหรือการสัมปทานย่อมน้อยกว่าน้อยนัก คือตกปีละไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องแบ่งสันเป็นเบี้ยบ้ายรายทางและสินจ้างรางวัลให้แก่ผู้มีอำนาจ
แต่ในระยะหลัง ๆ นี้การประมูลได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะกฎหมายได้กำหนดให้การจัดสรรและดูแลทรัพยากรเป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีอำนาจในการประมูลและทำให้รังนกนางแอ่นของประเทศไทยกระจายกันออกไป จึงทำให้มีรายได้โดยรวมมากขึ้น นั่นเป็นเรื่องของรังนกนางแอ่นที่เกิดขึ้นและให้ผลตามธรรมชาติในพื้นที่เกาะแก่งต่าง ๆ แต่ก็มีรังนกนางแอ่นอีกจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นรังนกที่เกิดขึ้นโดยสวรรค์ประทานโดยแท้ ดังเช่นรังนกนางแอ่นของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
รังนกนางแอ่นที่นี่เกิดขึ้นเนื่องจากชาวจีนใจบุญสุนทร์ทานผู้หนึ่งปลูกตึกแถวอยู่ดี ๆ ก็มีนกนางแอ่นมาอาศัย จึงปล่อยให้นกอาศัยอยู่ต่อไป ในที่สุดก็สามารถเก็บรังนกออกขายได้ และดำเนินการมาร่วมครึ่งศตวรรษแล้ว จนเป็นเรื่องราวเล่าขานว่าบุญสุนทร์ทานและการกุศลนั้นให้ผลจริง ในทุกวันนี้ก็ยังสามารถไปดูของจริงได้ เมื่อรายนี้ได้ผลก็มีคนคิดอ่านเอาอย่างทำตามบ้าง แต่กลับได้ผลไม่เหมือนกัน คือบ้างก็มีนกมาอาศัย แต่บ้างก็ไม่มีนกมาอาศัยอยู่ มีการอ้างเหตุผลต่าง ๆ กัน พวกหนึ่งก็ว่าเป็นเพราะบุญกรรม แต่อีกพวกหนึ่งก็ว่าเป็นเพราะทำเลที่ตั้งซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหาความจริงกันต่อไป
เพราะการเกิดขึ้นของบ้านรังนกที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในที่สุดก็มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยแบบชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยสายอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้ค้นคว้าแล้วก็ค้นพบถึงวิธีการสร้างบ้านรังนกและกรรมวิธีที่จะทำให้นกมาอาศัยทำรัง ได้มีการทำบ้านรังนกนางแอ่นตามฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่ง และใช้เทคนิคบางอย่างที่ทำให้นกนางแอ่นเข้ามาอยู่อาศัยจนมีรายได้ดีตาม ๆ กัน ห้วงเวลาหนึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไปรีดนาทาเร้นด้วยเหตุสองสถาน สถานหนึ่งอ้างว่าเป็นคนต่างด้าว ทำมาหากินบนแผ่นดินไทยไม่ได้ อีกสถานหนึ่งอ้างว่าการสร้างบ้านรังนกผิดกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเพราะไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้องตามแบบ
เรื่องร้อนถูกร้องเรียนมายังรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หลังจากได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วรองนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้มีการแก้ไขเฉพาะหน้าในสองประการคือ ข้อแรก ให้ผ่อนผันในเรื่องคนต่างด้าวประกอบอาชีพ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สัญชาติตามสนธิสัญญาสงบศึก ข้อสอง บ้านนกนางแอ่นนั้นไม่ถือว่าเป็นเรือนหรืออาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หากเป็นเพียงโรงสำหรับสัตว์อยู่อาศัย เรื่องร้ายจึงค่อยคลายเป็นดี
แต่ถึงกระนั้นก็ยังขาดการส่งเสริมอยู่นั่นเอง ทั้ง ๆ ที่โอกาสอันดียิ่งมาเยือนประเทศไทยแล้ว เพราะในสองปีมานี้มีเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่บนเกาะหลายแห่งของประเทศอินโดนีเซีย บังเกิดควันครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง กระทั่งลามมาถึงประเทศมาเลเซีย จึงเป็นเหตุให้นกนางแอ่นของอินโดนีเซียอพยพหลบภัยมายังประเทศไทย ดังนั้นในวันนี้ประเทศไทยของเราจึงมีจำนวนและปริมาณนกนางแอ่นเป็นจำนวนมหาศาลมากกว่าที่เคยมีหลายร้อยเท่านัก คงเหลือแต่ว่าประเทศไทยของเราจะสามารถสร้างบ้านนกนางแอ่นเพื่อรองรับกับการอพยพของนกนางแอ่นให้ทันท่วงทีได้หรือไม่
เพราะถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ประเทศไทยก็ขาดโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ เนื่องจากพื้นที่เกาะและถ้ำที่มีอยู่ นกนางแอ่นไทยอยู่อาศัยก่อนแล้ว นกนางแอ่นจากอินโดนีเซียเข้ามาแย่งชิงเอาไปไม่ได้ การที่จะไปอาศัยตามป่าเขาอย่างอื่นก็เป็นอันตรายจากการทำร้ายทำลายของสัตว์อื่น ดังนั้นขอเพียงทำบ้านรังนกนางแอ่นให้ดี ให้พอเพียงเท่านั้น ประเทศไทยเราก็จะสามารถรองรับกับนกนางแอ่นอพยพจากอินโดนีเซียจำนวนมหาศาลนั้นได้
และในวันนั้นรังนกนางแอ่นไทยที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกและมีปริมาณน้อยก็จะได้รับการเพิ่มปริมาณให้สามารถช่วงชิงปริมาณมากที่สุดของโลกได้อีกสถานะหนึ่ง ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารของนกเพราะฝั่งทะเลไทยนั้นยาวเหยียด พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมีฝั่งทะเลอยู่สองด้าน มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้หมู่เกาะใด ๆ ของอินโดนีเซียเลย สิ่งที่ขาดแคลนมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือความรู้ความเข้าใจและการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ
จึงขอบอกกล่าวมายังท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองและเพื่อนผองพี่น้องไทยในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้รับรู้เรื่องนี้ และร่วมกันคิดหาวิธีในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างบ้านรังนกนางแอ่นเพื่อช่วงชิงให้ประเทศไทยของเราเป็นเจ้าแห่งรังนกนางแอ่นของโลก ใครก็ได้ที่เห็นบทความนี้แล้วไหว้วานนำเสนอท่านผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยเถิด

แหล่งที่มา : www.manager.co.th/ 28 กรกฎาคม 2547

ข่าว นกแอ่น2

ไปดูถิ่นที่อยู่นกนางแอ่นกินรัง ที่ ตราด...กับการสร้างบ้านให้กลับมาทำรัง
จากข้อมูลการศึกษาเรื่อง "นกแอ่น : แหล่งทำรัง" ของ นายเกษม จันทร์ดำ พบว่าในประเทศไทยมีนกนางแอ่น 12 สายพันธุ์ รังนกที่ใช้ทำเป็นอาหารและยา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ มูลค่าการซื้อขายในท้องตลาด ราคาตั้งแต่ 60,000-100,000 กว่าบาทนั้น เป็นรังของนกนางแอ่นกินรังที่มีชื่อสามัญว่า Edible nest Swiftlet ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังตะโพกขาว และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือนกแอ่นรังดำ รังนกนางแอ่นกินรังจะมีสีขาว ราคาแพงกว่านกชนิดอื่นๆ นกนางแอ่นกินรังจะมีขนาดเล็กประมาณ 13 เซนติเมตร บินเร็วได้ประมาณ 89 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ธรรมชาติมักอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชอบอาศัยทำรังอยู่ภายในถ้ำตามเกาะเล็กเกาะน้อยแถบชายฝั่งทะเล นกจะใช้น้ำลายทำรังเพื่อวางไข่ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์- เมษายน ของทุกปีเป็นฤดูกาลสืบพันธุ์ การสร้างรังจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และวางไข่ 2 ฟอง ต่อ 1 รัง ใช้เวลาฟักไข่ 3 สัปดาห์ และเมื่อลูกนกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ จะบินออกจากรังได้
คนไทยรับวัฒนธรรมการบริโภครังนกมาจากชาวจีนตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย อยุธยา เชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้ รังนกเป็นของมีคุณค่า มีราคาสูง จึงได้มีการจัดเก็บภาษีในรูปแบบของส่วย ระบบเจ้าภาษีนายอากร และในปัจจุบันให้มีการรับสัมปทานตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ 2540 โดยห้ามเก็บรังนกเกินปีละ 3 ครั้ง และผู้ได้รับสัมปทานต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ในอัตรา รายละ 500,000 บาท (ประกาศกรมป่าไม้ ปี พ.ศ. 2542) ด้วยสรรพคุณของรังนกนางแอ่นกินรัง ทั้งเป็นของหายาก ประกอบกับความนิยมในการบริโภคเพิ่มขึ้นทั้งรังนกดิบและแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมรังนกสำเร็จรูปนี้เอง ทำให้รังนกเป็นที่ต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณนกนางแอ่นกินรังที่สามารถทำรังได้มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการพัฒนาเกาะต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา กระแสของการพัฒนาการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังเพิ่มขึ้น โดยการสร้างบ้าน หรือใช้อาคารเก่าๆ ล่อให้นกมาอาศัยและทำรังเพิ่ม จะได้เก็บรังขาย บริเวณแถบภาคใต้และขยายตัวสู่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทุกวันนี้ดูเหมือนจะเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าวิธีการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังภายในอาคาร
พบแหล่งที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นกินรัง ที่ จ.ตราด ...อยู่มาร่วม 20 ปีแล้ว
คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ นักธุรกิจระดับชั้นนำของจังหวัดตราด อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตราด เจ้าของธุรกิจทั้งกิจการโรงเลื่อย ธุรกิจการท่องเที่ยว "อ่าวน้อย คลิฟ บีช รีสอร์ท" ที่เกาะกูด ในจังหวัดตราด และบริษัทเดินเรือระหว่างประเทศในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ผู้โชคดีพบแหล่งที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นกินรังภายในบริเวณอาคารตึกเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วม 20 ปีเศษแล้ว เมื่อกลางปี 2546 ที่ผ่านมานี่เอง คุณอมฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า ประมาณเดือนกรกฎาคม 2546 ที่ตึกเก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2525 สังเกตเห็นว่ามีนกนางแอ่นบินเป็นฝูงๆ อยู่เหนืออาคาร จึงให้คนงานปีนขึ้นไปใช้ไม้ฝาอุด ปิดกั้นที่เป็นช่องใหญ่ไม่ให้นกบินเข้าไปได้ คนงานปีนขึ้นไปบนเพดานตึกจึงพบว่าข้างบนเพดานมีรังนกอยู่จำนวนมากพอสมควร บางรังมีขนาดใหญ่เป็นรวงรังติดๆ กัน กว้างยาวประมาณ 1 ตารางฟุต จึงเก็บลงมา จึงทราบภายหลังว่าเป็นรังนกนางแอ่นกินรัง ที่เรียกว่า Swiftlet ใช้รับประทานเป็นอาหารหรือยา ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจเมื่อเห็นนกนางแอ่นมาทำรังที่ฝาผนังตึกด้านนอกในช่วงแรกๆ เพราะมีรังหล่นมาเป็นรังที่ทำด้วยหญ้า ซึ่งเป็นรังนกนางแอ่นชนิดที่เรียกว่า Swallows เมื่อมีนกมาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเข้าไปอยู่ภายในตึกยังเข้าใจว่าเป็นนกชนิด Swallows อยู่ หากคนงานไม่ขึ้นไปพบเจอก็คงอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีใครรู้ว่ามีรังนกที่มีราคา รับประทานได้ อยู่บนนั้น "จะว่าเป็นโชคดีหรืออะไรก็ตาม จากการสังเกตเห็นฝูงนกดังกล่าว จึงให้คนงานขึ้นไปสำรวจดูภายในอาคารเก่า ได้พบรังนกที่ไม่เคยเก็บมาเลยเป็น 20 ปี รังติดกันเป็นแผ่นใหญ่ ซ้อนๆ อัดกันเป็นชั้นสูงตามจำนวนปี คิดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่น้อยคนจะเคยเห็น จากจุดนี้เองเริ่มที่จะสนใจสร้างอาคารใหม่ให้นกได้ขยายพันธุ์ไปอยู่อาศัย เป็นการเลี้ยงในเชิงอนุรักษ์ เพราะนกที่มาเป็นนกต่างถิ่นอพยพมาจากไซบีเรีย ถ้าทำให้นกติดที่อยู่ใหม่ได้ นกก็จะไม่ไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้ ได้ใช้เวลา 5-6 เดือน ศึกษาพฤติกรรมนกทั้งจากภูมิปัญญาชาวบ้านและนักวิชาการ เมื่อต้นปี 2547 นี้เอง บริเวณใกล้ๆ กับอาคารเก่า ได้สร้างอาคาร 3 ชั้น ที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นทำรังใหม่อีก 1 หลัง ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะได้ผลเพียงใด เพราะการเลี้ยงนกชนิดนี้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะ และการเรียนรู้ธรรมชาติของนกไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ" คุณอมฤทธิ์ ให้ความเห็น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานหลักวิชาการ...เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในอาคาร
คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วง 5-6 เดือน หลังจากพบรังนกที่ตึกหรืออาคารเก่าแล้ว คิดว่าจะปล่อยให้นกที่อยู่ในตึกเดิมได้อยู่อาศัยต่อไป และได้สร้างอาคารใหม่เพื่อดึงให้นกมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการขยายพันธุ์นกและการอนุรักษ์ให้มีนกชนิดนี้อยู่ตลอดไป จึงได้เดินทางไปดูการเลี้ยงนกชนิดนี้ที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช พยายามเรียนรู้จากชาวบ้านที่เลี้ยงนกในอาคารแล้วประสบความสำเร็จ ปรึกษากับนักวิชาการ รวมทั้งการเฝ้าดูพฤติกรรมของนกด้วยตัวเอง จากนั้นนำมาผสมผสานกัน ซึ่งทุกวันนี้ได้เริ่มนำมาทดลองใช้แล้ว พบว่าศาสตร์เรื่องการเลี้ยงนกชนิดนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ที่สำคัญต้องเป็นคนรักสัตว์สนใจที่จะศึกษาเข้าใจชีวิตของนกนางแอ่นจริงๆ
"ที่ปากพนัง ไปศึกษาจากผู้เลี้ยงโดยตรงแล้ว การเลี้ยงต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น ถ้าจะให้ดี ไม้ที่ทำคอนต้องเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีกลิ่น มาจากอินโดนีเซีย มีการใช้เสียงนกเป็นเสียงเรียก การติดตั้งกล้องอินฟราเรดเฝ้าดูพฤติกรรมนก รวมแล้วใช้เงินลงทุนมาก อาคารละ 4-5 ล้านบาท ทีเดียว ข้อมูลที่มีผู้ทำอาคารให้นกอยู่ 186 หลัง มีนกมาอยู่ ประมาณ 60 หลัง ซึ่ง 2 ปี อาจจะคืนทุนได้ แต่ในระยะยาวไม่มีใครรับประกันว่านกจะอยู่ในอาคารนั้นตลอดไปหรือไม่ เพราะผู้เลี้ยงนกพยายามที่จะให้นกเข้ามาอยู่ในอาคารของตนเอง ทำให้ราคาที่ดินบริเวณที่ใช้เลี้ยงนกขึ้นราคากันถึง 3 เท่า ดูแล้วเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูงและค่อนข้างเสี่ยงเอาการทีเดียว" คุณอมฤทธิ์ กล่าว
คุณอมฤทธิ์กล่าวถึงปัจจัยที่เหมาะสมในการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังที่จังหวัดตราดนั้น จากข้อมูลที่นักวิชาการศึกษาไว้ และเห็นว่าสอดคล้องกับนกนางแอ่นกินรังมาอาศัยอยู่เองตามธรรมชาติบริเวณอาคารเก่าว่า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 5-6 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก ในเรื่องของสภาพแวดล้อมต้องอยู่ใกล้บริเวณป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ เพราะจะเป็นแหล่งอยู่อาศัยของแมลงต่างๆ ที่เป็นอาหารของนกนางแอ่นกินรังในช่วงกลางวัน ข้อที่ 2 ความชื้นในอาคารต้องพอเหมาะ ประมาณ 70-90% ซึ่งเป็นความชื้นที่มาก ข้อที่ 3 อุณหภูมิในอาคารค่อนข้างต่ำ ประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ข้อที่ 4 ความเงียบปราศจากเสียงรบกวน ข้อที่ 5 ความปลอดภัย ต้องให้นกมีความรู้สึกว่าปลอดภัยไม่มีคนหรือสัตว์ร้ายมารบกวน
หากนกมีความรู้สึกปลอดภัยจะวางไข่และไม่ไปไหน เพราะนกพวกนี้จะอพยพมาครั้งละ 2-4 ตัว นอกจากนี้ บางคนอาจจะเพิ่มเสียงของนก ซึ่งเราเองไม่เข้าใจว่าเสียงนกที่ใช้เรียกนั้นนกสื่อความหมายอะไร แต่เป็นการคาดการณ์ว่าเสียงนกจะช่วยเรียกให้พรรคพวกเดียวกันเข้ามาในอาคารที่สร้างให้นกอยู่ได้
"จริงๆ แล้วที่จังหวัดตราดมีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในลักษณะใช้อาคารบ้านเรือนดึงให้นกเข้ามาอยู่นี้ 4-5 ราย คิดว่าแต่ละคนจะมีเทคนิคเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในส่วนตัวยังคงเป็นการเรียนรู้เท่านั้น ไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จเพียงใด คาดว่า 1-2 ปี หากเป็นไปตามที่ศึกษาน่าจะมีนกมาอยู่ในอาคารใหม่ ประมาณ 1,000 ตัว ที่จังหวัดตราดมีการทำสัมปทานรังนกที่เกาะรังห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30-40 ไมล์ ขณะนี้มีการพัฒนาเกาะต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาจจะมีผลให้นกบินหนีจากเกาะรังมาอยู่บนฝั่งได้ การที่มีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังจะช่วยเป็นการขยายพันธุ์และอนุรักษ์นกให้มีอยู่ที่จังหวัดตราดต่อไป เพราะการเก็บรังนกจะเก็บในช่วงนกทิ้งรังแล้ว ไม่เก็บในขณะที่วางไข่หรือลูกนกอาศัยอยู่ ธรรมชาติของนกชนิดนี้จะสร้างรังขึ้นใหม่ที่เดิม" คุณอมฤทธิ์ เล่าอย่างอารมณ์ดี
การเก็บรังนกขาย ควรเก็บรังนกที่ทิ้งร้างเท่านั้น...เพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์
ด้วยรังนกมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60,000-120,000 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรัง หรือผู้รับสัมปทานเก็บรังนกตามถ้ำบนเกาะต่างๆ มุ่งหวังในการเก็บให้ได้มากที่สุด ประกอบการทำรังของนกตามถ้ำทำให้การเก็บเป็นไปด้วยความยากลำบาก และข้อจำกัดให้เก็บรังนกได้ปีละ 3 ครั้ง เท่านั้น ทำให้ผู้รับสัมปทานต้องพยายามเก็บรังนกไปให้มากที่สุด บางครั้งเป็นรังที่มีไข่ หรือมีลูกนกตัวอ่อน เป็นการตัดวงจรการเจริญพันธุ์ของนก ทว่าคุณอมฤทธิ์มีแนวทางในการเก็บรังนกที่เลี้ยงว่าจะเก็บเฉพาะรังนกที่ทิ้งร้างแล้วเท่านั้น เพื่อให้นกได้ติดถิ่นที่อยู่ไม่อพยพย้ายไปไหน เพราะมีความรู้สึกปลอดภัยและมีโอกาสขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเพราะนกชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง จำนวนนกจะเพิ่มในปีหน้าเป็นทวีคูณ จาก 500 ตัว เป็น 1,000 ตัว ในปีต่อไป
คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ศึกษานกนางแอ่นกินรังจะใช้เวลาทำรังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ทยอยกันวางไข่ ใช้เวลาสร้างรัง 1 เดือน เวลาสร้างรังจะช่วยกันทั้งตัวเมียตัวผู้ เพราะนกชนิดนี้จะอยู่กันเป็นคู่ๆ การวางไข่ จะวางครั้งละ 2 ฟอง ใช้เวลาฟักอีก 20 -30 วัน และใช้เวลาดูลูกอีก 40-60 วัน รังนี้จะสร้างวางไข่และเลี้ยงดูลูกจริงๆ พ่อแม่นกจะไม่อยู่ในรังตั้งแต่สร้างเลย เมื่อนกโตออกหาอาหารได้จะทิ้งรัง เมื่อเราเก็บรังไปนกจะมาสร้างรังที่เดิม เฉลี่ยแล้วคู่หนึ่งจะสร้างรังปีละ 2 ครั้ง จุดที่นกจะสร้างรังจะเลือกตรงมุมคาน หรือมุมเพดานก่อน เพราะสร้างง่าย มีที่ยึด ต่อจากนั้นจะขยายไปข้างซ้าย ข้างขวาของคาน จนกระทั่งเต็มคาน ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปี รังที่บริเวณคานจะไม่สวย จะหนาทำให้ได้น้ำหนักมาก แต่ไม่ได้ราคาเหมือนรังด้านข้าง ซึ่งจะเป็นรูปถ้วย ข้างๆ เหมือนเขาควาย
เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังแนวธุรกิจใหม่...ระวังผลตอบแทนที่ค่อนข้างเสี่ยง
ที่จังหวัดตราด ที่ผ่านมามีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรัง 4-5 ราย เป็นลักษณะใช้บ้านเก่าเพื่อให้นกมาอยู่อาศัย เมื่อได้ผลจะซื้ออาคารเพิ่มขึ้น ผลพวงจากธุรกิจการเลี้ยงนกนี้เองทำให้ราคาที่ดินย่านที่เลี้ยงนกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว ทีเดียว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังยังคงมองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ลงทุนค่อนข้างสูงและเสี่ยงพอสมควร เพราะไม่มีหลักประกันใดที่แน่ใจว่านกจะเข้ามาอยู่อาศัยในอาคาร และถ้าเข้ามาอยู่จะอยู่ตลอดไปหรือไม่ ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ ทุกวันนี้จึงเป็นในลักษณะที่ดึงนกที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตราดให้เข้ามาอยู่ในอาคารของตนเอง ไม่ใช่เป็นความพยายามที่จะดึงนกที่อพยพมาจากไซบีเรีย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงหากเป็นการเลี้ยงตามกระแสความตื่นตัว โดยเฉพาะกับการต้องกู้เงินจำนวนมากมาลงทุน...ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจในธุรกิจพัฒนาการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในอาคาร พึงระวังเรื่องของปัญหาและอุปสรรคอย่างพิถีพิถัน พอๆ กับวิธีการจูงใจให้นกเข้ามาอยู่ในอาคารทีเดียว...ว่ากันว่าเคล็ดลับเทคนิคการเลี้ยงอย่างนี้คงไม่มีใครเขาบอกกันทั้งหมดหรอกนะ...
สูตรอาหารจากรังนกดิบ...ของ คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์
คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ บอกว่า รังนกที่มีคุณภาพมีราคาต้องเป็นรังนกใหม่ๆ ที่มีสีขาว เป็นรังนกรูปถ้วย ด้านข้างโค้งเหมือนเขาควาย เชื่อกันว่า น้ำลายของนกจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคปอด เพราะอุดมไปด้วยโปรตีนสูงถึง 60% เนื่องจากราคารังนกดิบสูงถึง 60,000-120,000 บาท จึงทำให้มีการนำรังนกดิบไปทำอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อให้ราคาถูกลงมา หรือใช้ส่วนผสมอื่นๆ มาปลอมปนเป็นอาหารจากรังนกดิบ ฉะนั้น หากสามารถทำรับประทานเองได้จะได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วนแถมคุ้มค่ากับราคาแสนแพงของรังนกอีกด้วย ทั้งนี้ สูตรนี้ใช้เวลาปรุงแต่งจากคำติชมของเพื่อนฝูงนักชิมทั้งหลาย กว่าจะลงตัวด้วยสูตรดังนี้
1. ล้างรังนกให้สะอาด ใช้น้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำที่มีกลิ่นคลอรีน เพราะกลิ่นจะเข้าไปในเนื้อรังนก
2. นำรังนกแช่น้ำทิ้งไว้ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้รังนกพองตัว ซึ่งจะทำให้สามารถเลือกขนนก เศษขยะที่ปะปนออกมาง่าย รังนกที่แช่น้ำนี้จะพองตัวให้ปริมาณและน้ำหนักเพิ่มจาก 1 ขีด เป็น 1.3 กิโลกรัมทีเดียว จากนั้นนำไปผึ่งไว้ในร่ม อย่าให้ถูกน้ำ ถูกแดด จะทำให้ขึ้นราได้ง่าย
3. นำรังนกไปตุ๋น ใช้เวลา 10-15 นาที สำหรับรังนกใหม่จะทำให้นิ่ม สีใส หากรังนกเก่าจะใช้เวลานานกว่านี้ ไม่อย่างนั้นจะแข็งกระด้าง
4. เคี่ยวน้ำตาลกรวด ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 7 ส่วน หรือน้ำตาล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 7 กิโลกรัม การใช้น้ำตาลกรวดทำให้ไม่มีกลิ่น สามารถได้กลิ่นรังนกขณะดื่ม
5. จากนั้นนำรังนกที่ตุ๋นแล้วใส่ลงไป 3-4 ช้อนชา ต่อน้ำตาลที่เคี่ยวไว้ 150 ซีซี
6. ทำเสร็จ สามารถแช่ตู้เย็นไว้รับประทานได้ ไม่ควรนานเกิน 15 วัน ไม่เช่นนั้นรสชาติจะเปลี่ยนไป

วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 334
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ…เก็บมาเล่า

พระเอก-นกแอ่นกินรัง2

โดยธรรมชาติของนกกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษกว่านกชนิดอื่นคือสามารถส่งคลื่นเสียงความถี่สูง (Echolocation) เพื่อใช้ค้นหาทิศทางในที่มืดสนิทได้เช่นเดียวกับค้างคาวกินแมลง (Insectivore bat) เป็นนกที่มีนิสัยการหาอาหารโดยการบินแล้วใช้ปากโฉบจับแมลงกลางอากาศ มีการศึกษาถึงชนิดและจำนวนของแมลงที่เป็นอาหารของนกแอ่นกินรังบริเวณถ้ำที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวของประเทศมาเลเซียโดยการผ่ากระเพาะอาหารของนก พบว่ามีแมลงอยู่ในกระเพาะอาหาร มีน้ำหนัก 1-2 กรัม และนับจำนวนตัวได้อยู่ระหว่าง 27-232 ตัว เมื่อคำนวณกลับไปสู่จำนวนประชากรนกทั้งหมดที่มีอยู่พบว่า นกในถ้ำนี้แห่งเดียวช่วยกำจัดแมลงประมาณปีละ 5,000 กิโลกรัม (5 ตัน) หรือนกในถ้ำนี้กินแมลงวันละประมาณ 100,000,000 ตัว (ร้อยล้านตัว) โดยพบว่าแมลงที่เป็นอาหารอยู่ในกลุ่มมดที่มีปีก 60 % กลุ่มปลวกมีปีก 27 % และแมลงอื่นๆ เช่นด้วงปีกแข็ง มวน เพลี้ยและแมลงวันอีก 13 %
นกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฤดูสร้างรังในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน แต่ก็มีรายงานหลายชิ้นที่ระบุว่านกกลุ่มนี้สามารถสร้างรังวางไข่ได้ตลอดทั้งปี พิสูจน์ได้โดยมีการศึกษาถึงอวัยวะที่ผลิตวัสดุสร้างรัง พบว่าเป็น เจ้าต่อมน้ำลาย (saliva glands) ที่อยู่บริเวณคางของนกนี้เอง การศึกษาต่อมาพบว่าต่อมนี้จะพัฒนาจนโตในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายน แล้วจะไม่พบต่อมน้ำลายนี้เลยในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม นก 2 ชนิดนี้ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 30-55 วัน วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง รายงานทุกฉบับกล่าวตรงกันหมดว่า นกชนิดนี้มีความสามารถในการสร้างรังทดแทน (Re-nest) ได้ทุกครั้งเมื่อรังถูกทำลายหรือเก็บไปก่อนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเก็บก่อนที่จะมีการวางไข่ของนก โดยทั่วไปหลายประเทศจึงกำหนดให้เก็บรังนกได้ปีละ 2-6 ครั้งต่อหนึ่งฤดูกาล โดยนกจะใช้เวลาฟักไข่อยู่ระหว่าง 20-30 วัน และใช้เวลาเลี้ยงดูลูกอ่อนอยู่ระหว่าง 40-60 วัน
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ แต่เมื่อไปดูเอกสารอีกหนึ่งกองก็ต้องตกใจเป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นเอกสารเรื่องการทำฟาร์มนกแอ่นกินรังในประเทศอินโดนีเซีย (The Farming of Edible Sweftlets in Indonesia) การทำฟาร์มนกในประเทศนี้หมายถึงการปลูกบ้านทิ้งไว้ให้นกมาทำรังในบ้านแล้วคนก็เข้าไปเก็บรังมาขาย ในเอกสารนั้นระบุว่าเริ่มมีแนวความคิดที่จะพัฒนาการทำฟาร์มในลักษณะนี้มาตั้งแต่ ปีค.ศ.1950 แต่มาประสบความสำเร็จจริงจังหลังค.ศ. 1990 จนมีตัวเลขจำนวนนกที่อยู่ในฟาร์มมากกว่า 40 ล้านตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่าจากตัวเลขการนำเข้ารังนกแอ่นของเกาะฮ่องกงเพียงเกาะเดียวประมาณปีละ 160,000 กิโลกรัม เป็นรังนกจากประเทศอินโดนีเซียถึงประมาณ 70,000 กิโลกรัมและจากประเทศไทยเพียง 7,000 กิโลกรัม สำหรับราคาที่ซื้อขายกันที่เกาะฮ่องกงในเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พบว่ามีราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2,620 – 4,060 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 100,000–180,000 บาทต่อกิโลกรัม! ถ้าหากให้ลองเดาราคารังนกแอ่นในท้องตลาดของประเทศไทยก็คงจะพอเดาๆได้ว่าราคาต่ำสุด ก็น่าไม่ควรจะต่ำกว่า 50,000 บาทต่อกิโลกรัม (จริงๆแล้วไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังด้วย) แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกน้ำลายนกว่าทองคำขาวได้อย่างไร ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียได้ขยายการผลิตและตั้งเป็นสมาคมการเพาะเลี้ยงที่ใหญ่ อีกทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นประจำทุกปี ซึ่งคงเดาได้ว่าค่าลงทะเบียนนั้นถูกหรือแพงเพียงไร…
นกแอ่นกินรังในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำรังตามเกาะที่อยู่ในทะเลนับได้ถึง 142 เกาะของในท้องที่จังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ พังงา ตรังและสตูล มีการศึกษารายละเอียดของชีววิทยาของนกแอ่นรังขาวบริเวณอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชของวนิสาในพ.ศ.2528 พบว่านกชนิดนี้สร้างรังวางไข่ตลอดปี แต่มีการทำรังวางไข่มากที่สุดในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม รังมีขนาด 5 X 13 เซนติเมตร รังหนักประมาณ 10 กรัมต่อรัง ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 30-35 วัน วางไข่ 2 ฟองต่อรัง ไข่มีสีขาวขนาดประมาณ 12 X 20 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 22-25 วัน ลูกนกออกจากไข่ไม่มีขนปกคลุมลำตัวและยังไม่ลืมตา พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ประมาณ 35-40 วันจึงจะบินได้ เมื่อนำรังไปวิเคราะห์หาสารอาหารพบว่ามีโปรตีน 60 % ฟอสฟอรัส 0.03 % แคลเซียม 0.85% และโปรแตสเซียม 0.03%
ตามรายงานของ อ.โอภาส ขอบเขตต์ ซึ่งได้ศึกษาการเก็บรังนกในประเทศไทย พบว่า มีการเก็บครั้งแรกเมื่อนกเริ่มสร้างรังช่วงต้นฤดูก่อนวางไข่ นกจะใช้เวลาการสร้างรังประมาณ 35-40 วัน และเก็บครั้งที่สองเมื่อนกสร้างรังครั้งที่สอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน และรังที่สามจะใช้เวลาประมาณ 15-17 วัน และเมื่อเก็บไปเรื่อยๆ นกก็จะสร้างรังขึ้นมาทดแทนได้ แต่ต้องเก็บรังก่อนที่นกจะวางไข่
ในอดีตเคยเชื่อว่ายิ่งเก็บรังนกออกมากเท่าไหร่สีของรังจะแดงขึ้นเพราะว่านกต้องกระอักเลือดมาสร้างรังใหม่ แต่จากการศึกษาก็พบว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสีของรังนกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของถ้ำที่นกสร้างรัง ถ้ำไหนมีความชื้นสูงหรือมีน้ำซึมจากผนังถ้ำมาที่รังนก รังนกก็จะออกมาเป็นสีแดงไม่ว่าจะเป็นรังที่หนึ่งหรือรังที่สองหรือรังที่สามก็ตาม ด้วยความสามารถผลิตรังที่มีราคาแพงมากจน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร สนใจศึกษานกแอ่นกินรังเพื่อหาว่าแท้จริงแล้วรังนกนี้สร้างมาจากอวัยวะส่วนใดของนกกันแน่ จากผลการศึกษาของท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้เป็นที่น่าสนใจทีเดียวว่า นกน่าจะผลิตสารเพื่อสร้างรังจากบริเวณกระเพาะพัก (crop) ของนก

การเดินทางไปดูแหล่งเพาะเลี้ยงในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มนกแอ่นแบบเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย คือที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตัวอำเภอทั้งช่วงเช้าตรู่และหัวค่ำ ผู้เขียนได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงนกแอ่นนับล้านๆ ตัว บินเต็มท้องฟ้าเพื่อเข้าออกในตัวตึกคล้ายคอนโดมิเนียมที่คนสร้างไว้ให้ และถือว่าเป็นโชคดีที่สุดที่ได้รับความกรุณาจากเจ้าของตึกบางท่านให้เข้าไปศึกษาภายในตัวตึก พบว่ามีรังนกแอ่นเกาะติดตามเพดาน เหมือนกับภาพการทำฟาร์มในประเทศอินโดนีเซียไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจแทนคนไทยที่มีความสามารถที่ได้สร้างตึก 5-7 ชั้น เพื่อให้นกมาสร้างรังและเก็บมาเป็นสินค้าส่งออกได้ ผู้เขียนได้สอบถามอย่างคร่าวๆ ถึงราคาตึกที่สร้างรวมค่าที่ดินในตอนนี้ตกหลังละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 กิโลกรัมต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตโดยรอบๆตัวอำเภอปากพนังกำลังมีการก่อสร้างตึกเพื่อดึงดูดให้นกแอ่นอยู่ไม่น้อยกว่า 50 หลัง ที่น่าเป็นห่วงคือไม่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ นกแอ่นหรือตึกจะมีจำนวนมากกว่ากัน

วารสาร @ll BIOTECH ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2546

พระเอก-นกแอ่นกินรัง1

หากจะย้อนอดีตดูประวัติความเป็นมาของการนิยมบริโภครังนก แม้ไม่บอกทุกคนก็คงเดาถูกว่าคือเริ่มจากชนชาติจีน ซึ่งนิยมกันมาเป็นเวลานานมากและการบริโภคได้เฟื่องฟูมากในสมัยราชวงศ์หมิง ชาวจีนนั้นมี ความเชื่อกันว่ารังของนกแอ่นมีสรรพคุณในแง่ต่างๆ ในการรักษาโรค หรือเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยความเชื่อในสรรพคุณเหล่านี้เอง จึงก่อให้เกิดการค้าขายรังนกแอ่นบนโลกนี้ขึ้น เท่าที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของพ่อค้าชาวยุโรปพบว่ามีมานานกว่า 400 ปีแล้ว จึงไม่น่าสงสัยว่าเหตุใด นกแอ่นกินรัง จึงได้สูญหายหรือไม่สร้างรังต่อในหลายประเทศอันได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ รวมทั้งตอนใต้ของประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ว่าประเทศไทยนั้นถึงแม้มีหลักฐานชัดเจนว่ามีกิจการค้าขายรังนกแอ่นตั้งแต่สมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นกแอ่นกินรังก็ยังคงอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติตัวเลขการส่งออกรังนกแอ่นจากประเทศไทยไปยังเกาะฮ่องกงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณถึง 7,000 กิโลกรัมต่อปี!
จากรายงานจำนวนสมาชิกของนกแอ่นกินรังในสกุล Collocalia จำนวน 14 ชนิด พบว่าทุกชนิดมีถิ่นการกระจายส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยจะขอกล่าวเฉพาะนกแอ่นกินรัง 3 ชนิดคือ
นกแอ่นกินรัง (Collocalia fuciphaga, Gmelin)
นกแอ่นกินรังตะโพกขาว (C. germanni, Oustalet)
นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม (C. maxima, Hume)
ปัจจุบันยังเป็นที่สับสนกันว่านกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดไหนกันแน่ ระหว่างนกแอ่นกินรัง และแอ่นกินรังตะโพกขาว หรือพบทั้งสองชนิดเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดถือตำราจากปรมาจารย์สำนักไหน อย่างไรก็ตามรังของนกทั้งสองชนิดนี้ทำจากน้ำลายล้วนๆ ไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปน สีของรังจึงมีสีขาวถึงสีแดง เป็นที่นิยมค้าขายกันและมีราคาสูงมาก ในที่นี้จะขอเรียกนกสองชนิดนี้ว่า “นกแอ่นรังขาว” ส่วนนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมนั้น มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าสองชนิดนั้นเล็กน้อย แล้วสร้างรังด้วยน้ำลายผสมกับขนของตัวเอง รังจึงออกมาเป็นสีดำสนิท ขอเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกแอ่นรังดำ” น่าประหลาดใจที่ว่าในหลายๆ ท้องที่มักพบนกทั้งสองชนิดนี้อาศัยหากิน และสร้างรังบริเวณพื้นที่เดียวกัน

วารสาร @ll BIOTECH ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2546

ข่าว นกแอ่น1

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เวลา 9.00 น. โครงการภูมิภาคศึกษา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งประเทศไทย (สกว.), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “รังนกแอ่น: ดินแดนลับแห่ง นก คน และธุรกิจแสนล้านในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก

โดยในช่วงบ่าย มีการเสวนาหัวข้อ “สงครามแย่งชิงรังนกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: นิเวศวิทยา เงินตรา ชาติพันธุ์” นำเสนอโดย ดร.โมฮัมเหม็ด ยูซุป บิน อิสมาอิล จากมหาวิทยาลัยเปิดแห่งประเทศมาเลเซีย) ศ.ดร.อนี อินี มาดิอาสตูตี จากมหาวิทยาลัยเกษตร โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ดร.ลิม ชาน คุก นักวิจัยอิสระ จากประเทศมาเลเซีย และ กมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำประมงอวนลาก นครศรีธรรมราช ดำเนินรายการโดย ดร.แพทริค โจรี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ชาวอีดาฮัน กับวิถีการเก็บรังนกแอ่นอย่างยั่งยืน
โดย ดร.โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ อิสมาอิล นำเสนอ “การจัดการถ้ำรังนกอย่างยั่งยืนในกลุ่มชาวอีดาฮัน แห่งรัฐซาบาร์” โดยเป็นการนำเสนอกรณีศึกษา ชาวอีดาฮัน ในด้านตะวันออกของรัฐซาบาห์ (Idahan) (อยู่ในส่วนบอร์เนียว มาเลเซีย) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่ได้รับสิทธิโดยชอบธรรมในเก็บรังนกที่ถ้ำหินปูนอย่างน้อยสามแห่ง

ผลจากศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเก็บรังนกเป็นจำนวนสามรอบต่อปีไม่ส่งผลทำให้จำนวนรังนกลดลงแต่อย่างใด โดยชาวอีดาฮันได้มีการพัฒนากลุ่มประชาสังคม โดยมีข้อตกลงในกลุ่มว่าด้วยการไม่เก็บรังนกในจำนวนที่มากเกินไป เพื่อเป็นการช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์นกแอ่นกินรัง งานวิจัยได้อธิบายถึงหลักการประจำตระกูลที่ใช้ในการกำหนดและวางระเบียบเรื่องสิทธิต่อรังนกของชาวอีดาฮันที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยในการใช้การควบคุมทางสังคมนี้ไม่มีกลุ่มใดที่จะได้รับสิทธิหรือมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของรังนกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ถ้ำรังนกทั้งหมดถูกกำหนดให้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวอิดาฮันเท่านั้น โดยสิทธิในการเข้าไปเก็บรังนกเป็นสิทธิที่มีความตกลงกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเผ่า โดยการได้สิทธิเข้าไปเก็บรังนกที่สืบทอดกันมาจะเป็นแบบการผลัดกันเป็นวงกลม โดยแต่ละรอบจะใช้เวลา 3 – 5 ปี จึงวนครบรอบ แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชนเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่านกแอ่นกินรังจะไม่มีวันสูญพันธุ์


รังนกที่ลดลง และการทำฟาร์มรังนกในมาเลเซีย
ด้าน ดร.ลิม ชาน คุน นักวิจัยอิสระ จากประเทศมาเลเซีย พูดถึงงานวิจัยหัวข้อ “ธุรกิจรังนกและการพัฒนาการการทำฟาร์มรังนกในประเทศมาเลเซีย” ระบุว่างานวิจัยฉบับนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสองหัวข้อใหญ่ของการศึกษาธุรกิจรังนก หรือเรียกว่า การจัดการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชากรนกแอ่นกินรังป่าที่อาศัยอยู่ในถ้ำและการศึกษาการทำฟาร์มรังนก

ในส่วนแรกของงานวิจัยเป็นการกล่าวย้อนไปถึงความเป็นมาของธุรกิจรังนกในมาเลเซีย รวมถึงสาเหตุที่นกแอ่นกินรังป่าจำนวนลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวรังนกที่มากเกินไป โดยมีเรื่องผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากทรัพยากรธรรมชาตินี้เป็นกรณีตัวอย่าง ตลอดจนการศึกษาเรื่องวิธีการเก็บเกี่ยวรังนกที่จะส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจรังนกในอนาคต และการแนะนำแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ด้วย

โดยงานวิจัยของ ดร.ลิม ชาน คุน ได้ยกสามกรณีศึกษาขึ้นมานำเสนอ คือ กลุ่มนกแอ่นกินรังชนิดรังขาว ในตอนกลางของเขตบารัม และกล่าวถึงการเก็บรังนกแอ่นกินรังชนิดรังดำ ที่บูกิตซารัง และที่อุทยานแห่งชาตินีอะห์ ในรัฐซาราวัค และกล่าวถึงที่มาที่ไปและการเผยแพร่ขยายของธุรกิจรังนกในมาเลเซีย โดยศึกษาในคาบสมุทรมาเลเซีย รัฐซาบาร์ และซาราวัค โดยการแบ่งตามกฎหมายที่ใช้ในแต่ละรัฐของมาเลเซีย


‘บ้านนกแอ่น’ ธุรกิจการเลี้ยงนกแอ่นในประเทศไทย
ด้าน นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ค้าสัตว์น้ำประมงอวนลาก นครศรีธรรมราช นำเสนองานวิจัย “ธุรกิจการเลี้ยงนกแอ่นในประเทศไทย” ระบุว่าที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนกแอ่นเข้ามาอยู่อาศัยกับผู้คนในชุมชนนานกว่า 80 ปี โดยในขณะนั้นไม่มีใครสนใจว่า นกแอ่นบินเข้ามาอยู่อาศัยได้อย่างไร และต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้นกเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนของตนได้ รังนกแอ่นซึ่งเชื่อว่าเป็นของบำรุงร่างกายชั้นเลิศ จึงมีราคาแพงมากและหายาก

นอกเหนือจากรังนกที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว ก็คงจะมีแต่รังนกแอ่นที่อยู่ตามบ้านเท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ความพยายามที่จะหาวิธีให้นกแอ่นเข้ามาอยู่ร่วมกับผู้คนหรือสร้างบ้านให้นกแอ่นทำรังคล้ายฟาร์มเลี้ยงสัตว์จึงเกิดขึ้น

ที่อำเภอปากพนัง จึงมีสิ่งก่อสร้างที่แปลกหูแปลกตาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมากที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือตึกหรืออาคารสำหรับเลี้ยงนกแอ่น บ้างก็เป็นอาคารเดี่ยวๆโดยเฉพาะ บ้างก็เป็นอาคารที่ประกอบการค้าร่วมด้วย หรืออยู่อาศัยร่วมกัน คาดว่า ณ ปัจจุบัน อำเภอปากพนังมีอาคารลักษณะเหล่านี้มากกว่า 200 หลัง ขณะเดียวกันอาคารเหล่านี้ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศไทยคาดว่าจะมีมากถึง 500-600 หลังแล้ว

สำหรับสัมมนา “รังนกแอ่น: ดินแดนลับแห่ง นก คน และธุรกิจแสนล้านในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นและทบทวนงานวิจัยเรื่องนกแอ่นกินรังตั้งแต่ปี 1957 ภายใต้ 5 ประเด็นหลักคือ ความเป็นมา, ระบบและชีวภูมิศาสตร์ของนกแอ่นกินรัง, การกำหนดทิศทางในมืดและการหาตำแหน่งด้วยเสียงสะท้อน, วงจรการสืบพันธุ์และพฤติกรรมของนกแอ่นกินรัง, การหาประโยชน์จากนกแอ่นกินรัง โดยในแต่ละประเด็น จะพยายามให้รายละเอียดโดยสรุปเกี่ยวกับภูมิหลัง ด้วยเป้าหมายเพื่อเป็นการใช้ข้อมูลและหนุนเสริมแก่วิทยากรผู้เชี่ยวทั้งหลายที่จะนำเสนอต่อไปในการสัมมนาครั้งนี้


โดย : ประชาไท วันที่ : 30/10/2550

รู้จักสายพันธุ์นกนางแอ่น

คนทั่วไปที่รู้จักนกนางแอ่นอยู่เพียงชนิดเดียว คือนกนางแอ่นที่พบเห็นบินโฉบร่อนไปมาอยู่บนท้องฟ้า ทั้งยังคิดไปว่า นกนางแอ่นที่เห็น อยู่นั้น เป็นชนิดเดียวกับที่มีคนนำรังมาบริโภคกัน และมีคนบอกว่า นกนางแอ่นเหล่านี้ เวลากลางคืนจะพากันไปหลับนอนอยู่แถวถนนสีลม ตอนนั้นยังไม่ ทราบหรอกว่า นกนางแอ่นที่บินอยู่บนฟ้านั้นมีหลายชนิด ทั้งยังเป็นนกที่อยู่กันคนละวงศ์กันเสียด้วย ที่สำคัญคือ ไม่มีชนิดใดเลย ที่เรานำรังมาปรุงอาหาร ก็จะไม่ให้เข้าใจเช่นนั้น ได้อย่างไรกัน ในเมื่อเวลาที่เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็จะเห็นแต่นกปีกแหลม ตัวเล็กๆสีคล้ำๆ บินฉวัดเฉวียนไปมาอยู่ตลอดเวลา ใครจะไปรู้ได้ว่า ตัวไหนเป็นนกแอ่น ตาล ตัวไหนคือนกนางแอ่นบ้าน สูงออกอย่างนั้น ดูด้วยตาเปล่าทีไร เห็นแต่นกตัวเล็กๆเหมือนกัน ไปหมด
จนกระทั่งหันมาดูและสนใจเรื่องนกนั่นแหละ ถึงเพิ่งได้รู้ว่า นกนางแอ่นที่นิยมนำรังมากินนั้น ที่แท้เรียกว่า นกแอ่นกินรัง ( Edible - nest Swiflet ) ซึ่งเป็นนกที่อยู่ในวงศ์ นกแอ่น (Apodidadae ) และนกชนิดนี้ก็ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่จะพบหากินอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล และ จะทำรังด้วย น้ำลายอยู่ตามถ้ำ บนเกาะทางภาคใต้ บริเวณใกล้สุดที่จะพบนกแอ่นกินรังได้คือ ที่ วัดช่องลม จ.สมุทรสาคร ซึ่งนกชนิดนี้เข้ามาทำรังอยู่ในโบสถ์ สำหรับนกที่ บินร่อนอยู่เหนือ ท้องฟ้าในกรุงเทพฯ ที่ผมเคยเข้าใจผิดว่าเป็นนกชนิดเดียวกัน นั้น ความจริง มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด เป็นนกในวงศ์นกแอ่นอยู่ ชนิดหนึ่ง คือ นกแอ่นตาล ( Asian Palm - Swift ) ชนิดนี้จะพบได้ตลอดทั้งปี เวลาบินอยู่บนท้องฟ้า จะมองเห็นเป็นนกตัวเล็กๆ ลำตัวเรียว และ มีปีกงอโค้งเหมือนสมอเรือ นกแอ่นตาลนี่จะทำรัง ติดอยู่ตาม ใบตาล
ส่วนอีกชนิดหนึ่ง กลับเป็นนกที่อยู่คนละวงศ์กัน โดยเป็นนกในวงศ์นกนางแอ่น ( Hirundinidae ) อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากนั่นเอง และ ชนิดที่พบเห็นอยู่เหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ นั้น คือ นกนางแอ่นบ้าน ( Barn Swallow ) เมื่อรู้ว่าเป็นคนละชนิดกันแล้ว จึงทำให้สังเกตเห็นความแตกต่าง ของ นกนางแอ่นบ้าน ที่เวลาบินจะมองเห็นขนาดใหญ่ และ รูปร่างป้อมกว่า ด้านล่างลำตัวเป็นสีขาว ปีกแหลม และ หางเว้าลึกเข้ามามากกว่า นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ แล้ว เราจะพบนกนางแอ่นบ้านได้เฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่นกบินย้ายถิ่นหลบหนีความหนาวเย็น จาก ตอนเหนือเข้ามาในประเทศไทย และ นกนางแอ่นชนิด นี้ นี่เอง ที่มาเกาะพักอยู่ตามสายไฟ และ บนต้นไม้ที่ถนนสีลม ในตอนกลางคืน
นอกจากนกนางแอ่นบ้านแล้ว นกนางแอ่นอีกชนิดหนึ่งที่นักดูนกพบเห็นกันได้บ่อยๆ ก็คือ นกนางแอ่นตะโพกแดง ( Red - rumped Swallow ) ชนิดนี้ตะโพกสีแดง และ มีลายขีดประที่บริเวณท้องสีขาว นกชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วประเทศ ตามป่า เชิงผา และ พื้นที่โล่งๆ จากที่ราบไปจนถึงยอดเขา และ พบเห็นได้ตลอดปี
ปัจจุบัน นกนางแอ่นตะโพกแดง ( Red - rumped Swallow ) ได้ถูกแยกออกเป็นชนิดใหม่ อีก ชนิดหนึ่ง และ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ซึ่ง ชนิด ที่พบในไทย คือชนิดย่อย H . d . japonnica มีขอบเขตการ กระจายพันธุ์ อยู่ทางตอนกลางของทวีปเอเซีย ในช่วงฤดูหนาว จึงอพยพย้ายถิ่นลงมาทางใต้ เป็นนกประจำถิ่น สร้างรังวางไข่ในอินเดีย ตอนเหนือของ พม่า ไทย และ อินโดจีน จะพบอยู่เฉพาะทางตอนเหนือสุด ของ ประเทศไทย นอกจากนี้ นกนางแอ่น ตะโพกแดง ยังเป็นนกที่กระจายพันธุ์ อยู่ในทวีปยุโรป และบินอพยพ ย้ายถิ่น ลงไปตอนกลาง ของทวีปอาฟริกา ด้วย ชื่อสกุล Hirundo ของนกนางแอ่น ตะโพกแดง และ นกนางแอ่นลาย มาจากคำในภาษาละติน หมายถึง นกนางแอ่น
รูปร่างลักษณะ นกนางแอ่นลาย เป็นนกในวงศ์นกนางแอ่น ( Hirundinidae ) ที่มีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่ มีขนาดยาวประมาณ 19 ซม. ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับนกนางแอ่นตะโพกแดง ( Red - rumped Swallow ) ทำให้แต่เดิม จัดรวมเข้าเป็นชนิดย่อย หนึ่งของ นกนางแอ่นตะโพกแดง แต่ นกนางแอ่นลาย จะมีขีดลายตามตัว ชัดเจนมากกว่า ต่อมาจึงถูกแยกออก เป็นอีกชนิด หนึ่ง ต่างหาก โดยนกชนิดนี้ด้านบนของลำตัว จะมีสีน้ำเงินอมเขียว และ มีสีเทาเข้มตรงโคนของเส้นขน ตะโพกสี น้ำตาลแดง และมีขีดประสีดำเล็กๆ อยู่ทั่วไป ขนคลุมบนโคนหางเส้นสั้นสีน้ำตาลแดง ส่วนเส้นที่ยาวกว่า สีน้ำเงิน เหลือบ เข้ม วงรอบตรงท้ายทอย มีสีน้ำตาลแดงอ่อนๆ ยาวจากเหนือตา วนรอบ จรดอีกด้านหนึ่ง หัวตา แก้ม และ ข้างหูมีสีขาว พร้อมขีดประสีเข้มอยู่ทั่ว ด้านล่างลำตัวสีขาว และ มีลายขีดสีน้ำตาลอมดำกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งบริเวณคาง และ คอด้วย ขนคลุมใต้โคนหางสีน้ำตาลอมดำ แซมด้วย สีเขียวเหลือบ เข้ม ขนใต้ปีกตรงรักแร้ และ ขนคลุมปีก ด้านล่าง สีขาวแซมด้วยสีเนื้อ ขนคลุมปีกด้านบน และ ขนปีก สีน้ำตาลอมดำ ไล่ลงไปจนถึง น้ำเงินเหลือบ หางสี น้ำตาลอมดำ และ เว้าลึกเข้ามา ตาสีน้ำตาล ปากสีดำอมน้ำตาล ขาและเท้าสีน้ำตาลเข้ม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนนกที่ยังโต ไม่เต็มวัย ออกสี น้ำตาล ทึมๆ กว่า ตะโพก ข้างหัว และวงรอบคอ สีจางกว่า ด้วย
ส่วนนกนางแอ่นตะโพกแดงนั้น จะมีขนาดเล็กกว่า คือ ยาวประมาณ 16 - 17 ซม. ลายขีดที่ปรากฏ อยู่ จะมีขนาดเล็ก และ จางกว่าด้วย นอกจากนี้ วงรอบตรงท้ายทอย ยังมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่านกนางแอ่นลาย และ ลากข้างคอวนรอบไปจรดอีกข้างหนึ่ง
นิสัยประจำพันธุ์ นกนางแอ่นลาย จะใช้เวลาส่วนใหญ่ บินโฉบร่อนหากินอยู่บนท้องฟ้า โดยเป็นนก ที่บินได้เก่งมาก แต่บินได้ช้ากว่า นกนางแอ่นบ้าน นกมักบินหากินตามลำพัง หรือ เป็นกลุ่มเล็กๆ ทั้งยังชอบหาอาหารร่วมกับนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ด้วย แต่จะไม่เข้ามา รวมกลุ่มอยู่ในเมือง นกนางแอ่นลายจะบินหากินอยู่เหนือ ทุ่งโล่ง ตามป่า หรือ หุบเขา มีทั้งที่บินเรี่ยพื้นดิน เหนือยอดไม้ และ ร่อนตามผา เที่ยวไล่จับแมลงขนาดเล็ก ที่บินอยู่ กลางอากาศกินเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ยุง จักจั่น เต่าทอง ตั๊กแตน ผึ้ง โดยบินโฉบไล่งับด้วยปากอย่างคล่องแคล่ว และ รวดเร็ว ด้วยปากกว้าง และ มีกล้ามเนื้อขากรรไกรที่แข็งแรงมาก สามารถจับแมลงกลางอากาศได้ทันที บางครั้ง นกนางแอ่นลาย ยังลงมากินปลวกตามพื้น หรือ โฉบแมลงตามต้นไม้ด้วย และ มักพบนกได้เสมอตามบริเวณที่มีไฟไหม้ทุ่งหญ้า ในเวลาที่พักเหนื่อย นกนางแอ่นลาย จะลงมาเกาะพักอยู่ตามกิ่งไม้เล็กๆ พงอ้อพงแขม หรือเกาะเรียง อยู่ตามสายไฟ เป็นแถว เสียงร้องของนกนางแอ่นลาย จะดัง "ควีซ" นุ่มใสๆ เหมือนเสียงผิวปาก แต่ถ้าตกใจจะบิน ร้องเสียงดัง " ชิ - ชิ - ชิ " รัวถี่ๆ
แหล่งอาศัยหากิน นกนางแอ่นลาย จะอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะตามริมลำน้ำ หุบเขา เชิงผา ส่วนใหญ่มักพบบ่อยๆ ตามป่า โปร่ง ป่าละเมาะ ตามหมู่บ้าน หรือ พื้นที่เกษตรกรรม จากที่ราบขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุด

นกแอ่นกินรัง: ทองคำขาวแห่งเอเชีย…!

เรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปมปริศนาคาใจของหลายผู้คนที่มีความอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับ "รังนกแอ่น” (Edible-nest Swiftlet) หรือที่ชาวตะวันตก เรียกกันว่า “White Gold” หรือแปลเป็นไทยว่า “ทองคำขาว” ทั้งนี้อาจเป็นว่าฝรั่งเรียกเพื่อประชดประชันชาวเอเชียที่ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำลายของนกจนแพงลิบลิ่ว ของแพงย่อมเป็นจุดสนใจของใครหลายคน และที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือคำถามที่ว่า แล้วนกแอ่นพวกนี้มีชีวิตอยู่ที่ไหน หรืออยู่กันอย่างไร? อีกคำถามหนึ่งที่น่าจะหาคำตอบก็คือเมื่อรังมันมีราคาแพงนัก จริงๆ แล้วมันมูลค่าเท่าใดกันแน่ และเมื่อมันแพง ทำไมประเทศไทยไม่เพาะเลี้ยงและขายรังมันเสียเลย และคำถามอื่นๆ ที่ดูจะหาคำตอบได้ยากยิ่ง มาร่วมกันหาคำตอบเหล่านี้ด้วยกันเถอะ
สิ่งแรกคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นกนางแอ่น (Swallows) และนกแอ่น (Swiftlets) ในแง่ทางวิชาการนั้น มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งอุปนิสัยและลักษณะภายนอก จนนักอนุกรมวิธานได้จัดแยกเอาไว้คนละอันดับ (Order) โดยมีข้อสังเกตบางประการถึงความแตกต่างของนกสองกลุ่มนี้คือ นกนางแอ่น(Swallows) เป็นนกมีปีกแต่ละข้างยาวและกว้างแผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เรียวแหลม มีนิสัยชอบเกาะตามสายไฟฟ้าเป็นฝูงขนาดใหญ่ และที่พวกเราพบคุ้นเคยกันก็คือ นกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) ที่มาชุมนุมรวมตัวที่ถนนสีลมในกรุงเทพช่วงฤดูหนาวของทุกปี โดยทั่วไปนกนางแอ่นสามารถพบเห็นได้บ่อยทั้งในเมืองใหญ่ ตามท้องไร่ท้องนา นกกลุ่มนี้สร้างรังบริเวณหน้าผาหรือตามบ้านเรือนด้วยดินโคลนผสมกับเศษพืช ดังนั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่มีรายงานว่ามนุษย์คนใดนำรังของนกนางแอ่นมาปรุงเป็นอาหาร…!