Sunday, October 12, 2008

ข่าว นกแอ่น2

ไปดูถิ่นที่อยู่นกนางแอ่นกินรัง ที่ ตราด...กับการสร้างบ้านให้กลับมาทำรัง
จากข้อมูลการศึกษาเรื่อง "นกแอ่น : แหล่งทำรัง" ของ นายเกษม จันทร์ดำ พบว่าในประเทศไทยมีนกนางแอ่น 12 สายพันธุ์ รังนกที่ใช้ทำเป็นอาหารและยา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ มูลค่าการซื้อขายในท้องตลาด ราคาตั้งแต่ 60,000-100,000 กว่าบาทนั้น เป็นรังของนกนางแอ่นกินรังที่มีชื่อสามัญว่า Edible nest Swiftlet ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังตะโพกขาว และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือนกแอ่นรังดำ รังนกนางแอ่นกินรังจะมีสีขาว ราคาแพงกว่านกชนิดอื่นๆ นกนางแอ่นกินรังจะมีขนาดเล็กประมาณ 13 เซนติเมตร บินเร็วได้ประมาณ 89 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ธรรมชาติมักอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชอบอาศัยทำรังอยู่ภายในถ้ำตามเกาะเล็กเกาะน้อยแถบชายฝั่งทะเล นกจะใช้น้ำลายทำรังเพื่อวางไข่ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์- เมษายน ของทุกปีเป็นฤดูกาลสืบพันธุ์ การสร้างรังจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และวางไข่ 2 ฟอง ต่อ 1 รัง ใช้เวลาฟักไข่ 3 สัปดาห์ และเมื่อลูกนกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ จะบินออกจากรังได้
คนไทยรับวัฒนธรรมการบริโภครังนกมาจากชาวจีนตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย อยุธยา เชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้ รังนกเป็นของมีคุณค่า มีราคาสูง จึงได้มีการจัดเก็บภาษีในรูปแบบของส่วย ระบบเจ้าภาษีนายอากร และในปัจจุบันให้มีการรับสัมปทานตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ 2540 โดยห้ามเก็บรังนกเกินปีละ 3 ครั้ง และผู้ได้รับสัมปทานต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ในอัตรา รายละ 500,000 บาท (ประกาศกรมป่าไม้ ปี พ.ศ. 2542) ด้วยสรรพคุณของรังนกนางแอ่นกินรัง ทั้งเป็นของหายาก ประกอบกับความนิยมในการบริโภคเพิ่มขึ้นทั้งรังนกดิบและแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมรังนกสำเร็จรูปนี้เอง ทำให้รังนกเป็นที่ต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณนกนางแอ่นกินรังที่สามารถทำรังได้มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการพัฒนาเกาะต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา กระแสของการพัฒนาการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังเพิ่มขึ้น โดยการสร้างบ้าน หรือใช้อาคารเก่าๆ ล่อให้นกมาอาศัยและทำรังเพิ่ม จะได้เก็บรังขาย บริเวณแถบภาคใต้และขยายตัวสู่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทุกวันนี้ดูเหมือนจะเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าวิธีการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังภายในอาคาร
พบแหล่งที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นกินรัง ที่ จ.ตราด ...อยู่มาร่วม 20 ปีแล้ว
คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ นักธุรกิจระดับชั้นนำของจังหวัดตราด อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตราด เจ้าของธุรกิจทั้งกิจการโรงเลื่อย ธุรกิจการท่องเที่ยว "อ่าวน้อย คลิฟ บีช รีสอร์ท" ที่เกาะกูด ในจังหวัดตราด และบริษัทเดินเรือระหว่างประเทศในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ผู้โชคดีพบแหล่งที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นกินรังภายในบริเวณอาคารตึกเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วม 20 ปีเศษแล้ว เมื่อกลางปี 2546 ที่ผ่านมานี่เอง คุณอมฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า ประมาณเดือนกรกฎาคม 2546 ที่ตึกเก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2525 สังเกตเห็นว่ามีนกนางแอ่นบินเป็นฝูงๆ อยู่เหนืออาคาร จึงให้คนงานปีนขึ้นไปใช้ไม้ฝาอุด ปิดกั้นที่เป็นช่องใหญ่ไม่ให้นกบินเข้าไปได้ คนงานปีนขึ้นไปบนเพดานตึกจึงพบว่าข้างบนเพดานมีรังนกอยู่จำนวนมากพอสมควร บางรังมีขนาดใหญ่เป็นรวงรังติดๆ กัน กว้างยาวประมาณ 1 ตารางฟุต จึงเก็บลงมา จึงทราบภายหลังว่าเป็นรังนกนางแอ่นกินรัง ที่เรียกว่า Swiftlet ใช้รับประทานเป็นอาหารหรือยา ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจเมื่อเห็นนกนางแอ่นมาทำรังที่ฝาผนังตึกด้านนอกในช่วงแรกๆ เพราะมีรังหล่นมาเป็นรังที่ทำด้วยหญ้า ซึ่งเป็นรังนกนางแอ่นชนิดที่เรียกว่า Swallows เมื่อมีนกมาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเข้าไปอยู่ภายในตึกยังเข้าใจว่าเป็นนกชนิด Swallows อยู่ หากคนงานไม่ขึ้นไปพบเจอก็คงอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีใครรู้ว่ามีรังนกที่มีราคา รับประทานได้ อยู่บนนั้น "จะว่าเป็นโชคดีหรืออะไรก็ตาม จากการสังเกตเห็นฝูงนกดังกล่าว จึงให้คนงานขึ้นไปสำรวจดูภายในอาคารเก่า ได้พบรังนกที่ไม่เคยเก็บมาเลยเป็น 20 ปี รังติดกันเป็นแผ่นใหญ่ ซ้อนๆ อัดกันเป็นชั้นสูงตามจำนวนปี คิดว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่น้อยคนจะเคยเห็น จากจุดนี้เองเริ่มที่จะสนใจสร้างอาคารใหม่ให้นกได้ขยายพันธุ์ไปอยู่อาศัย เป็นการเลี้ยงในเชิงอนุรักษ์ เพราะนกที่มาเป็นนกต่างถิ่นอพยพมาจากไซบีเรีย ถ้าทำให้นกติดที่อยู่ใหม่ได้ นกก็จะไม่ไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้ ได้ใช้เวลา 5-6 เดือน ศึกษาพฤติกรรมนกทั้งจากภูมิปัญญาชาวบ้านและนักวิชาการ เมื่อต้นปี 2547 นี้เอง บริเวณใกล้ๆ กับอาคารเก่า ได้สร้างอาคาร 3 ชั้น ที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นทำรังใหม่อีก 1 หลัง ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะได้ผลเพียงใด เพราะการเลี้ยงนกชนิดนี้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะ และการเรียนรู้ธรรมชาติของนกไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ" คุณอมฤทธิ์ ให้ความเห็น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานหลักวิชาการ...เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในอาคาร
คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า ในช่วง 5-6 เดือน หลังจากพบรังนกที่ตึกหรืออาคารเก่าแล้ว คิดว่าจะปล่อยให้นกที่อยู่ในตึกเดิมได้อยู่อาศัยต่อไป และได้สร้างอาคารใหม่เพื่อดึงให้นกมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการขยายพันธุ์นกและการอนุรักษ์ให้มีนกชนิดนี้อยู่ตลอดไป จึงได้เดินทางไปดูการเลี้ยงนกชนิดนี้ที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช พยายามเรียนรู้จากชาวบ้านที่เลี้ยงนกในอาคารแล้วประสบความสำเร็จ ปรึกษากับนักวิชาการ รวมทั้งการเฝ้าดูพฤติกรรมของนกด้วยตัวเอง จากนั้นนำมาผสมผสานกัน ซึ่งทุกวันนี้ได้เริ่มนำมาทดลองใช้แล้ว พบว่าศาสตร์เรื่องการเลี้ยงนกชนิดนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ที่สำคัญต้องเป็นคนรักสัตว์สนใจที่จะศึกษาเข้าใจชีวิตของนกนางแอ่นจริงๆ
"ที่ปากพนัง ไปศึกษาจากผู้เลี้ยงโดยตรงแล้ว การเลี้ยงต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น ถ้าจะให้ดี ไม้ที่ทำคอนต้องเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีกลิ่น มาจากอินโดนีเซีย มีการใช้เสียงนกเป็นเสียงเรียก การติดตั้งกล้องอินฟราเรดเฝ้าดูพฤติกรรมนก รวมแล้วใช้เงินลงทุนมาก อาคารละ 4-5 ล้านบาท ทีเดียว ข้อมูลที่มีผู้ทำอาคารให้นกอยู่ 186 หลัง มีนกมาอยู่ ประมาณ 60 หลัง ซึ่ง 2 ปี อาจจะคืนทุนได้ แต่ในระยะยาวไม่มีใครรับประกันว่านกจะอยู่ในอาคารนั้นตลอดไปหรือไม่ เพราะผู้เลี้ยงนกพยายามที่จะให้นกเข้ามาอยู่ในอาคารของตนเอง ทำให้ราคาที่ดินบริเวณที่ใช้เลี้ยงนกขึ้นราคากันถึง 3 เท่า ดูแล้วเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูงและค่อนข้างเสี่ยงเอาการทีเดียว" คุณอมฤทธิ์ กล่าว
คุณอมฤทธิ์กล่าวถึงปัจจัยที่เหมาะสมในการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังที่จังหวัดตราดนั้น จากข้อมูลที่นักวิชาการศึกษาไว้ และเห็นว่าสอดคล้องกับนกนางแอ่นกินรังมาอาศัยอยู่เองตามธรรมชาติบริเวณอาคารเก่าว่า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 5-6 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก ในเรื่องของสภาพแวดล้อมต้องอยู่ใกล้บริเวณป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ เพราะจะเป็นแหล่งอยู่อาศัยของแมลงต่างๆ ที่เป็นอาหารของนกนางแอ่นกินรังในช่วงกลางวัน ข้อที่ 2 ความชื้นในอาคารต้องพอเหมาะ ประมาณ 70-90% ซึ่งเป็นความชื้นที่มาก ข้อที่ 3 อุณหภูมิในอาคารค่อนข้างต่ำ ประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส ข้อที่ 4 ความเงียบปราศจากเสียงรบกวน ข้อที่ 5 ความปลอดภัย ต้องให้นกมีความรู้สึกว่าปลอดภัยไม่มีคนหรือสัตว์ร้ายมารบกวน
หากนกมีความรู้สึกปลอดภัยจะวางไข่และไม่ไปไหน เพราะนกพวกนี้จะอพยพมาครั้งละ 2-4 ตัว นอกจากนี้ บางคนอาจจะเพิ่มเสียงของนก ซึ่งเราเองไม่เข้าใจว่าเสียงนกที่ใช้เรียกนั้นนกสื่อความหมายอะไร แต่เป็นการคาดการณ์ว่าเสียงนกจะช่วยเรียกให้พรรคพวกเดียวกันเข้ามาในอาคารที่สร้างให้นกอยู่ได้
"จริงๆ แล้วที่จังหวัดตราดมีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในลักษณะใช้อาคารบ้านเรือนดึงให้นกเข้ามาอยู่นี้ 4-5 ราย คิดว่าแต่ละคนจะมีเทคนิคเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในส่วนตัวยังคงเป็นการเรียนรู้เท่านั้น ไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จเพียงใด คาดว่า 1-2 ปี หากเป็นไปตามที่ศึกษาน่าจะมีนกมาอยู่ในอาคารใหม่ ประมาณ 1,000 ตัว ที่จังหวัดตราดมีการทำสัมปทานรังนกที่เกาะรังห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30-40 ไมล์ ขณะนี้มีการพัฒนาเกาะต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาจจะมีผลให้นกบินหนีจากเกาะรังมาอยู่บนฝั่งได้ การที่มีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังจะช่วยเป็นการขยายพันธุ์และอนุรักษ์นกให้มีอยู่ที่จังหวัดตราดต่อไป เพราะการเก็บรังนกจะเก็บในช่วงนกทิ้งรังแล้ว ไม่เก็บในขณะที่วางไข่หรือลูกนกอาศัยอยู่ ธรรมชาติของนกชนิดนี้จะสร้างรังขึ้นใหม่ที่เดิม" คุณอมฤทธิ์ เล่าอย่างอารมณ์ดี
การเก็บรังนกขาย ควรเก็บรังนกที่ทิ้งร้างเท่านั้น...เพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์
ด้วยรังนกมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60,000-120,000 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรัง หรือผู้รับสัมปทานเก็บรังนกตามถ้ำบนเกาะต่างๆ มุ่งหวังในการเก็บให้ได้มากที่สุด ประกอบการทำรังของนกตามถ้ำทำให้การเก็บเป็นไปด้วยความยากลำบาก และข้อจำกัดให้เก็บรังนกได้ปีละ 3 ครั้ง เท่านั้น ทำให้ผู้รับสัมปทานต้องพยายามเก็บรังนกไปให้มากที่สุด บางครั้งเป็นรังที่มีไข่ หรือมีลูกนกตัวอ่อน เป็นการตัดวงจรการเจริญพันธุ์ของนก ทว่าคุณอมฤทธิ์มีแนวทางในการเก็บรังนกที่เลี้ยงว่าจะเก็บเฉพาะรังนกที่ทิ้งร้างแล้วเท่านั้น เพื่อให้นกได้ติดถิ่นที่อยู่ไม่อพยพย้ายไปไหน เพราะมีความรู้สึกปลอดภัยและมีโอกาสขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเพราะนกชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง จำนวนนกจะเพิ่มในปีหน้าเป็นทวีคูณ จาก 500 ตัว เป็น 1,000 ตัว ในปีต่อไป
คุณอมฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ศึกษานกนางแอ่นกินรังจะใช้เวลาทำรังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ทยอยกันวางไข่ ใช้เวลาสร้างรัง 1 เดือน เวลาสร้างรังจะช่วยกันทั้งตัวเมียตัวผู้ เพราะนกชนิดนี้จะอยู่กันเป็นคู่ๆ การวางไข่ จะวางครั้งละ 2 ฟอง ใช้เวลาฟักอีก 20 -30 วัน และใช้เวลาดูลูกอีก 40-60 วัน รังนี้จะสร้างวางไข่และเลี้ยงดูลูกจริงๆ พ่อแม่นกจะไม่อยู่ในรังตั้งแต่สร้างเลย เมื่อนกโตออกหาอาหารได้จะทิ้งรัง เมื่อเราเก็บรังไปนกจะมาสร้างรังที่เดิม เฉลี่ยแล้วคู่หนึ่งจะสร้างรังปีละ 2 ครั้ง จุดที่นกจะสร้างรังจะเลือกตรงมุมคาน หรือมุมเพดานก่อน เพราะสร้างง่าย มีที่ยึด ต่อจากนั้นจะขยายไปข้างซ้าย ข้างขวาของคาน จนกระทั่งเต็มคาน ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปี รังที่บริเวณคานจะไม่สวย จะหนาทำให้ได้น้ำหนักมาก แต่ไม่ได้ราคาเหมือนรังด้านข้าง ซึ่งจะเป็นรูปถ้วย ข้างๆ เหมือนเขาควาย
เลี้ยงนกนางแอ่นกินรังแนวธุรกิจใหม่...ระวังผลตอบแทนที่ค่อนข้างเสี่ยง
ที่จังหวัดตราด ที่ผ่านมามีผู้เลี้ยงนกนางแอ่นกินรัง 4-5 ราย เป็นลักษณะใช้บ้านเก่าเพื่อให้นกมาอยู่อาศัย เมื่อได้ผลจะซื้ออาคารเพิ่มขึ้น ผลพวงจากธุรกิจการเลี้ยงนกนี้เองทำให้ราคาที่ดินย่านที่เลี้ยงนกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว ทีเดียว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังยังคงมองเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ลงทุนค่อนข้างสูงและเสี่ยงพอสมควร เพราะไม่มีหลักประกันใดที่แน่ใจว่านกจะเข้ามาอยู่อาศัยในอาคาร และถ้าเข้ามาอยู่จะอยู่ตลอดไปหรือไม่ ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ ทุกวันนี้จึงเป็นในลักษณะที่ดึงนกที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตราดให้เข้ามาอยู่ในอาคารของตนเอง ไม่ใช่เป็นความพยายามที่จะดึงนกที่อพยพมาจากไซบีเรีย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงหากเป็นการเลี้ยงตามกระแสความตื่นตัว โดยเฉพาะกับการต้องกู้เงินจำนวนมากมาลงทุน...ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจในธุรกิจพัฒนาการเลี้ยงนกนางแอ่นกินรังในอาคาร พึงระวังเรื่องของปัญหาและอุปสรรคอย่างพิถีพิถัน พอๆ กับวิธีการจูงใจให้นกเข้ามาอยู่ในอาคารทีเดียว...ว่ากันว่าเคล็ดลับเทคนิคการเลี้ยงอย่างนี้คงไม่มีใครเขาบอกกันทั้งหมดหรอกนะ...
สูตรอาหารจากรังนกดิบ...ของ คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์
คุณอมฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ บอกว่า รังนกที่มีคุณภาพมีราคาต้องเป็นรังนกใหม่ๆ ที่มีสีขาว เป็นรังนกรูปถ้วย ด้านข้างโค้งเหมือนเขาควาย เชื่อกันว่า น้ำลายของนกจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคปอด เพราะอุดมไปด้วยโปรตีนสูงถึง 60% เนื่องจากราคารังนกดิบสูงถึง 60,000-120,000 บาท จึงทำให้มีการนำรังนกดิบไปทำอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อให้ราคาถูกลงมา หรือใช้ส่วนผสมอื่นๆ มาปลอมปนเป็นอาหารจากรังนกดิบ ฉะนั้น หากสามารถทำรับประทานเองได้จะได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วนแถมคุ้มค่ากับราคาแสนแพงของรังนกอีกด้วย ทั้งนี้ สูตรนี้ใช้เวลาปรุงแต่งจากคำติชมของเพื่อนฝูงนักชิมทั้งหลาย กว่าจะลงตัวด้วยสูตรดังนี้
1. ล้างรังนกให้สะอาด ใช้น้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำที่มีกลิ่นคลอรีน เพราะกลิ่นจะเข้าไปในเนื้อรังนก
2. นำรังนกแช่น้ำทิ้งไว้ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้รังนกพองตัว ซึ่งจะทำให้สามารถเลือกขนนก เศษขยะที่ปะปนออกมาง่าย รังนกที่แช่น้ำนี้จะพองตัวให้ปริมาณและน้ำหนักเพิ่มจาก 1 ขีด เป็น 1.3 กิโลกรัมทีเดียว จากนั้นนำไปผึ่งไว้ในร่ม อย่าให้ถูกน้ำ ถูกแดด จะทำให้ขึ้นราได้ง่าย
3. นำรังนกไปตุ๋น ใช้เวลา 10-15 นาที สำหรับรังนกใหม่จะทำให้นิ่ม สีใส หากรังนกเก่าจะใช้เวลานานกว่านี้ ไม่อย่างนั้นจะแข็งกระด้าง
4. เคี่ยวน้ำตาลกรวด ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 7 ส่วน หรือน้ำตาล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 7 กิโลกรัม การใช้น้ำตาลกรวดทำให้ไม่มีกลิ่น สามารถได้กลิ่นรังนกขณะดื่ม
5. จากนั้นนำรังนกที่ตุ๋นแล้วใส่ลงไป 3-4 ช้อนชา ต่อน้ำตาลที่เคี่ยวไว้ 150 ซีซี
6. ทำเสร็จ สามารถแช่ตู้เย็นไว้รับประทานได้ ไม่ควรนานเกิน 15 วัน ไม่เช่นนั้นรสชาติจะเปลี่ยนไป

วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 334
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ…เก็บมาเล่า

No comments: